วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บิ๊กปตท.ลั่น!!ต้องปรับตัวเองให้แข่งขันได้



วงการปิโตรเคมีจากหลายสำนักออกมาฟันธงชัดว่าปี 2553อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะเป็นช่วงขาลงบางรายก็บอกว่าทรงตัว เพราะมีกำลังผลิตใหม่เกิดขึ้น จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และตะวันออกกลาง เมื่อมีกำลังผลิตในตลาดโลกมากขึ้นแบบนี้บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(บมจ.) หรือ PTTCH ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์รายใหญ่จะรับมืออย่างไร เพราะขาข้างหนึ่งก็ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก ซึ่งโจทย์นี้ วีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTCH มีคำตอบให้จากบทสัมภาษณ์คำต่อคำในฉบับนี้
++มองซัพพลายในตลาดโลก
กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTCH มองกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากตะวันออกกลางและจีนและในอาเซียนโดยเฉพาะในประเทศไทย แต่สำหรับกำลังผลิตที่อื่นของโลก เช่นในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ประเทศเหล่านี้ไม่สร้างกำลังการผลิตเพิ่มอย่างอเมริกาจะไม่สร้างเพิ่มแล้วเพราะแข่งขันไม่ได้โดยเฉพาะปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานส่วนประเทศที่เศรษฐกิจโต อย่างในอาเซียนก็จะมีประเทศที่มีขีดความสามารถในอุตสาหกรรมนี้คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ซึ่งประเทศเหล่านี้อยู่ในเขตที่มีการเติบโตต่อเนื่องมีลักษณะคล้ายจีนคือสร้างขึ้นมาแล้วมีดีมานด์(ความต้องการใช้)รองรับแต่ต้องให้แข่งขันได้ด้วย โดยที่มาเลเซียก็มีการขยายตัวเพราะมีวัตถุดิบ ที่สิงคโปร์ไม่มีวัตถุดิบแต่มีฐานการผลิตเดิมที่ค่อนข้างใหญ่และเป็นประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนมาก เช่นเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี แนวโน้มมีแผนจะขยายมากขึ้น มีการถมทะเลสร้างโรงงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกาะจูล่ง มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุด
ส่วนตะวันออกกลางยังมีกำลังผลิตใหม่ออกมาเพราะเป็นแหล่งผลิตปิโตรเคมีที่มีต้นทุนต่ำ โดยจะมีกำลังผลิต20% ของโลก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ไม่เอื้อต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีในหลายเรื่อง เช่นระยะทางในการขนส่งไปยังลูกค้าที่ไกล การขนส่งโดยใช้ท่าเทียบเรือยังขึ้นโครงการได้ไม่เต็มที่ ขณะที่จีนหลายโรงงานด้านปิโตรเคมีก็ทำได้ค่อนข้างดี
++PTTCHรับมืออย่างไร
เมื่อตลาดโลกมีความหลากหลายในการขยับตัวแบบนี้ ถามว่าแล้วเราจะต่อสู้อย่างไรกับธุรกิจปิโตรเคมี ผมก็มองว่าธุรกิจนี้มีขาขึ้น-ขาลง มันเป็นวัฏจักร พอเศรษฐกิจดี ความต้องการใช้ก็มากขึ้น แล้วราคาก็สูงขึ้น ก็มีการลงทุนสร้างกันมาก พอเศรษฐกิจไม่ดีก็หยุดสร้าง สำหรับPTTCH เมื่อรู้ว่าวัฏจักรเป็นแบบนี้ เราก็มีการวางแผนรับมือมาตลอด เรามีการวางกลยุทธ์ ติดตามสถานการณ์ของตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อมาปรับตัวเองให้แข่งขันได้
"เราจะย้อนดูจุดแข็งของตัวเองก่อน ดูว่าเราเก่งตรงไหน ดูว่าตลาดต้องการอะไร แล้วเราสู้อะไรไม่ได้ บางอย่างที่เราทำได้เพราะเรามีขีดความสามารถ ดังนั้นการลงทุนต่อไปไม่ใช่เพิ่มกำลังผลิตแต่เราจะเพิ่มโดยการต่อยอดขึ้นมา"
เวลานี้จุดที่PTTCH แข็งคือสายโพลิเมอร์กำลังผลิตในปี 2553 เราจะมีถึง 1.5 ล้านตัน ปัจจุบันเราผลิตได้ 500,000 ตัน โดยโพลิเมอร์ในประเทศไทยจะมีขนาดกำลังผลิตรวมใกล้เคียงกับสิงคโปร์คือ 2-3 ล้านตัน/ปี ซึ่งเราเองจะต้องบริหารให้ดีอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ในฐานต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยคำนึงถึงการใช้พลังงานที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ 85% และใช้น้ำมัน15% เป้าหมายยังเหมือนเดิมที่สัดส่วนการใช้ก๊าซจะเกิน 90% แต่เวลานี้มาบตาพุดมาเป็นเงื่อนไขที่เราต้องปฏิบัติตามให้ได้ โดยไม่ทำให้การบริหารจัดการเรื่องการลดต้นทุนรวมมีปัญหา
เช่นเดียวกับการมองตลาดจีนและอินเดีย ที่มีจีดีพีเติบโตต่อเนื่อง ยังต้องพึ่งตลาดนี้เป็นหลัก
ต้องยอมรับว่าจีนขณะนี้จีดีพีโต 8% และอินเดียจีดีพีโต 7% มีศักยภาพการเติบโตสูง จึงยังเป็นตลาดหลักของเรา โดยมองว่าโพลิเมอร์ยังโตได้อีกและโพลิเมอร์ในตลาดโลกก็โต 3-4%
++คิดว่ายังอยู่ในฐานะที่แข่งขันได้
เราPTTCH คิดว่าเราแข่งขันได้ งานที่เราทำ อยู่บนสมมติฐานที่เราต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยมีเป้าหมายคือเดินเครื่องให้ปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด บริหารต้นทุนให้แข่งขันได้ มีการใช้พลังงานให้ต่ำลง ซึ่งขณะนี้เราลดการใช้พลังงานต่อปี 1-2% โดยเราลงทุนด้านนี้หลายเรื่องทั้งเรื่องระบบควบคุมอัตโนมัติของเทคโนโลยีทั้งระบบมาปรับจูนเข้ากับอุปกรณ์ของเราให้ดีอย่างต่อเนื่องที่ในอดีตยังไม่มี และมองว่าราคาน้ำมันดิบปี 2553 ไม่น่าจะสูงถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล น่าจะอยู่ที่ประมาณ70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
ทั้งนี้ในปี 2553 บริษัทจะมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดค่าใช้จ่าย มีการขยายตลาด ตั้งราคา มีการนำระบบการบริหารซัพพลายเชน (SCM) มาใช้เต็มรูปแบบ เพื่อให้ได้จุดสมดุลทั้งระบบตั้งแต่การใช้วัตถุดิบไปจนถึงมือลูกค้าปลายทาง
++จีนผลิตได้มากขึ้นกระทบมั้ย
การที่เราส่งออกไปจีนด้วย ผมเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เรายังมีต้นทุนที่แข่งขันได้ มีคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ส่วนจีนถ้าตราบใดเศรษฐกิจในจีนยังโตแบบ 8% ต่อปีแบบนี้และโตต่อเนื่อง จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากนอกประเทศจีนอยู่อีกมาก และที่สำคัญ ต้องบอกว่าวันนี้เรามีของที่ไม่พอขาย และในประเทศไทยการใช้พลาสติกเพื่อทำบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ลดลง การผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตเม็ดพลาสติกได้อย่างเพียงพอและหลากหลาย และบางตัวมีใช้ไม่เพียงพอ เช่นLLDP ที่PTTCH มีกำลังผลิต400,000 ตัน LDPE จะผลิตได้กลางปี 2553 ขนาดกำลังผลิต300,000 ตัน/ปี
ส่วนHDPE ขณะนี้มีเพียงพอแต่ความต้องการใช้ในตลาดโลกมีมากขึ้น จะทำให้ตลาดในประเทศตึงตัวไปด้วย เพราะขณะนี้โครงการของPTTCH ติดอยู่ในท้ายคำฟ้องที่มาบตาพุด ซึ่งเดิมมีกำลังผลิตอยู่แล้ว500,000 ตัน จะผลิตส่วนขยายเพิ่มอีก 300,000 ตัน สรุปรวมแล้วตลาดเม็ดพลาสติกเหล่านี้จะตึงอยู่ทั้งตลาดโลก เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น เกิดกำลังซื้อมากในตลาดอาเซียน ทำให้ราคาขณะนี้พุ่งสูงขึ้น
++ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วหรือยัง
คิดว่าที่ผ่านมาปิโตรเคมีอยู่ในอาการขึ้นๆลงๆ และปี 2553 จะเป็นปีที่ท้าทายความสามารถของPTTCH ที่จะพิสูจน์ฝีมือเราเอง เพราะเวลานี้มองกันว่าเศรษฐกิจโลกไม่ได้ทรุดมากอย่างที่คิด แต่ก็ยังไม่ฟื้นมาก ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีก็มีกำลังผลิตใหม่มากขึ้นในตลาดโลก ทั้งตะวันออกกลางจีนผลิตเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเราต้องแข่งขันให้ได้ในธุรกิจนี้ถ้าแข่งขันไม่ได้ก็จบ ซึ่งเวลานี้ก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในตลาดโลกที่มีผู้ผลิตบางรายขายกิจการไป มีการปลดพนักงาน ซึ่งเมื่อปี 2552PTTCH ก็เหนื่อยเพราะปรับวิธีทำงานอย่างเร่งด่วน และนโยบายไม่มีการปลดพนักงาน เพราะยึดหลักที่ว่าพนักงานคืออาวุธที่สำคัญ ซึ่งในปีที่แล้วเราก็ทำได้ดี มีผลประกอบการดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นปี 2552 ด้วย
อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ขาขึ้นแต่จะเป็นช่วงทรงๆไปจนถึงขาลง เพราะมีกำลังผลิตใหม่เข้ามามากขึ้น ขณะที่การเติบโตของตลาดไปอยู่ในซีกอาเซียนมากกว่า ไม่ได้โตทั้งโลกทุกตลาด ดังนั้นส่วนต่างของราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์(spread) เอาราคาเม็ดพลาสติกลบด้วยนาฟทาในยุคที่ปิโตรเคมีรุ่งเรืองจะอยู่ที่ 600-700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน วันนี้เหลือ 400-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ดังนั้นถ้าต่ำกว่านี้จะมีโรงงานปิโตรเคมีปิดอีกมาก บางโรงงานบริหารโดยแตะอยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันแล้วเท่าทุน บางโรงงานแตะที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯก็พอมีกำไร ซึ่งเราอยู่ในกลุ่มหลังนี้จึงยืนอยู่ได้
++การลงทุนปี2553
เราต้องให้โครงการที่ลงทุนไปแล้วเกิดขึ้นโดยไม่สะดุด(หมายถึงโครงการที่ติดอยู่ท้ายคำฟ้องในมาบตาพุด) เพราะ PTTCHจะมีโครงการที่อยู่ท้ายคำฟ้อง 8 โครงการ เป็นเงินลงทุนรวม13,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้รับผ่อนผันไปแล้ว 1 โครงการ ส่วนการลงทุนในอนาคตกำลังดูในหลายมิติซึ่งภายในปี 2553 จะได้ข้อสรุป ว่าจะขยายการลงทุนในไทยต่อไปหรือออกไปนอกบ้าน เพื่อจะได้ใช้ขีดความสามารถที่มีอยู่แข่งขันได้ในระยะยาวด้วย โดยการลงทุนนอกบ้านจะยึดลงทุนในอาเซียนเป็นหลักเพราะทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียต่างก็มีประชากรมากกว่าไทย ผลิตขายในประเทศได้ และมีอาฟต้า 0% ฉะนั้นเราจะอยู่ตรงไหนของอาเซียนก็ได้
"ธุรกิจปิโตรเคมีของไทยในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ทดแทนการนำเข้าอีกต่อไปแล้ว ถือว่าเป็นธุรกิจระดับโลกมีโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับโลก คนที่มาลงทุนจะต้องมาดูแลอย่างดี ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด บริษัทขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องกลัวความผิดมาก"

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
ประจำวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น